ความเป็นมาของโครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทยเฉลิมพระเกียรติ
และ ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมพุทธศาสนามหายานจีน-ไทย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้พระวิศวภัทร และคณะ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อรับพระราชทานทุนปฐมฤกษ์ในการก่อตั้งโครงการแปลพระสูตรภาษาจีน ในขณะนั้น พระวิศวภัทร ได้ทูลถวายพระไตรปิฏกภาษาจีน ฉบับไทโช ๑ ชุด เพื่อพระราชทานให้หอพระไตรปิฎกนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โครงการฯ ได้เปิดประชุมเป็นครั้งแรกที่ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ในสมัยนั้นเป็นประธานการประชุมซึ่งท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานโครงการฯ และได้แต่งตั้งพระวิศวภัทร เป็นผู้ริเริ่มโครงการฯและรองประธานโครงการฯ โดยมีพุทธบริษัท ๔ ประกอบด้วยพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเข้าร่วมประชุม
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า โครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทย เฉลิมพระเกียรติ ภาษาอังกฤษว่า The Chinese-Thai Mahāyāna Sūtra Translation Project in Honour of His Majesty the King ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ และได้แปลชื่อโครงการเป็นภาษาจีนว่า 崇聖大乘佛經中泰翻譯組
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระไตรปิฎกฉบับ หลงจั้ง จำนวน ๑ ชุด ให้แก่ โครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทยเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๕ และ พระราชทานชื่อ หอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ พร้อมตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ ประดับที่หอพระไตรปิฎก อันเป็นที่ตั้งของโครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทย เฉลิมพระเกียรติ ตามลำดับ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระฉายาลักษณ์ เพื่อเชิญมาพิมพ์ในหนังสือผลงานเล่มแรกของโครงการ คือ ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ๗ สำนวน แปลโดยคณะแปลในครั้งนั้น และ สถาบันขงจื่อ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีการแปลพระสูตรสู่ภาษาไทย และปาฐกถาพระสูตรมหายาน ณ พุทธสมาคมจีน มูลนิธิต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ในปี ๒๕๕๙
๑. พระอาจารย์หมิงเซิงมหาเถระ รองประธานสมัชชาพุทธศาสนาแห่งชาติจีน และประธานพุทธสมาคมมณฑลกวางตุ้ง เมตตามอบพระไตรปิฏกจีนฉบับต่างๆ คือ 永樂北藏,大正藏,乾隆大藏經,卍續藏經,浄土藏 รวม ๕ ชุด ๑๒๙ กล่อง ๑,๔๔๘ เล่ม
๒. พระอาจารย์ฉางจั้งมหาเถระ รองประธานพุทธสมาคมนครปักกิ่ง เจ้าอาวาสวัดหลิงกวง (วัดพระเขี้ยวแก้ว) นครปักกิ่ง มอบพระไตรปิฎกฉบับภาษาจีน ฉบับ 趙城金藏 จำนวน ๑๒๒ เล่ม
๓. พระอาจารย์หุ้ยกวงมหาเถระ รองประธานพุทธสมาคมมณฑลอันฮุย รองประธานพุทธสมาคมภูเขาจิ่วหัวซาน มอบพระไตรปิฏกฉบับ 房山石經 จำนวน ๓๐ เล่ม เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ และเจริญสัมพันธไมตรีทางพุทธศาสนาไทย-จีน
ทางโครงการฯ ยังเชื่อมสัมพันธ์ทางพุทธศาสนามหายานระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน โดยพระอาจารย์หมิงเซิงมหาเถระ ได้เมตตาก่อตั้ง 中泰漢傳佛教文化研究中心 ภาษาไทย : ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมพุทธศาสนามหายานจีน-ไทย, ภาษาอังกฤษ : The Chinese-Thai Center for the Study of Mahāyāna Buddhist Culture of China โดยท่านเมตตาเป็นประธานศูนย์ศึกษาฯ และแต่งตั้งพระวิศวภัทร เป็นผู้ริเริ่มและผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาฯ ณ มูลนิธิพุทธจักษุวิชชาลัย เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ซึ่งโครงการฯ และศูนย์ศึกษาฯ ดังกล่าวมีพันธกิจและวัตถุประสงค์ร่วมกัน
– วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมปลูกฝังโพธิจิตให้สาธุชนและเยาวชนไทย ที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนา และสนใจภาษาศิลปวัฒนธรรมของจีน ได้มีโอกาสศึกษาต่อที่สถาบันพุทธศาสนาในสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่งเสริมงานเขียนเชิงวิชาการ และงานแปลทางพระพุทธศาสนามหายานให้เผยแพร่ในวงกว้าง รวมไปถึงการสร้างเสริมบุคลากรทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ โดยเปิดกว้างไม่จำกัดลัทธินิกาย เพื่อร่วมกันศึกษา เผยแผ่และปฏิบัติในแนวของพระพุทธศาสนามหายาน และเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
– การมีส่วนร่วม : โครงการฯ และ ศูนย์ศึกษาฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการเปิดรับบุคลากร หรือ อาสาสมัคร หรือ ผู้ที่มีศรัทธาและความรู้ความสามารถ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาตามวัตถุประสงค์ โครงการฯ และ ศูนย์ศึกษายินดีส่งเสริมสนับสนุนผลงานที่ทรงคุณค่าของท่าน ให้เผยแพร่ในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาต่อไป
– สถานที่ตั้งโครงการฯ และ ศูนย์ศึกษาฯ : อารามวัตรมหายาน มูลนิธิพุทธจักษุวิชชาลัย เลขที่ ๘๘ หมู่ ๑ ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
– ติดต่อสอบถาม : เพื่อร่วมสนับสนุนและ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ที่ โทร. 082 591 5999 หรือ ที่กล่องข้อความของเพจโครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทย เฉลิมพระเกียรติ นี้
-สนับสนุนกิจกรรมของโครงการฯ ผ่านธนาคารกสิกรไทย
ชื่อ โครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทยเฉลิมพระเกียรติ
เลขที่ 659-1-00615-9